จรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน
บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)


จรรยาบรรณในการปฏิบัติ คือ ความประพฤติที่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนความประพฤติของพนักงานเสริมสุข จรรยาบรรณของเสริมสุข กำหนดขึ้นสำหรับพนักงานทุกคนของบริษัทฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยพนักงานของบริษัทฯ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัตินี้อย่างเคร่งครัด

เนื่องจากไม่มีคู่มือใด ๆ ที่จะสามารถบรรยายความประพฤติที่ควรกระทำหรือควรละเว้นไว้ได้โดยครอบคลุมครบถ้วนทุกสถานการณ์ บริษัทฯ จึงขอให้พนักงานทุกระดับชั้น ใช้วิจารณญาณที่เป็นกลางในการวินิจฉัย ว่าสิ่งใด หรือการกระทำใด ๆ เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ หรือ ละเว้นในการประพฤติปฏิบัติ

หากพนักงานท่านใดมีข้อสงสัยในการใช้วิจารณญาณของตนเอง ว่าควรจะกระทำการใด หรือไม่ บริษัทฯ มีข้อแนะนำเบื้องต้นว่า พนักงานควรตั้งคำถามต่อไปนี้กับตนเองเพื่อประกอบการใช้วิจารณญาณของตนเอง ดังนี้

  • การกระทำนั้น ๆ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
  • การกระทำนั้น ๆ สอดคล้องกับระเบียบของบริษัทฯ หรือไม่?
  • ท่าน “รู้สึก” ว่าการกระทำนั้น ๆ สมควรหรือไม่? ท่านสามารถอธิบายเหตุผลให้กับพนักงานอื่นๆ ของบริษัทฯ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ตรวจสอบของบริษัทฯ ฟังและยอมรับการกระทำของท่านได้หรือไม่ ?
  • ท่านจะอธิบาย หรือ ชี้แจงการกระทำของท่านต่อสาธารณชนได้หรือไม่? ถ้าการกระทำของท่านกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

จรรยาบรรณของบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน)
แบ่งได้เป็น 14 ข้อ ดังต่อไปนี้
(1) ภาระหน้าที่ของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)

ภารกิจโดยทั่วไปของบริษัทฯ คือการเพิ่มมูลค่าให้คุ้มกับการลงทุนของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ด้วยการเพิ่มยอดขาย การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานควบคุมค่าใช้จ่าย การลงทุนและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ เชื่อว่าการประสบความสำเร็จทางธุรกิจของบริษัทฯ ขึ้นอยู่กับการมอบคุณภาพ และความคุ้มค่ากับผู้บริโภคและลูกค้าของบริษัทฯ ด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง สะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภค เสริมสร้างความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตสินค้าซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาดเครื่องดื่มให้แก่ผู้บริโภค เพื่อสร้างความตื่นตัวของตลาดเครื่องดื่ม และเน้นความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในประเทศ บริษัทฯ จะเน้นการให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อผู้ลงทุน โดยในขณะเดียวกันก็จะให้การดูแลพนักงานโดยรวมของบริษัทฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน

(2) การปฏิบัติต่อพนักงาน

สิ่งสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทฯ คือพนักงานของบริษัทฯ บริษัทฯ เชื่อในการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ส่งเสริมให้มีบรรยากาศแห่งความเอื้ออาทร การสื่อสารระหว่างกันอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย การยอมรับกับความคิดใหม่ๆ หรือการแสดงออกของพนักงาน การปรับตัวหรือความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มความสามารถ

บริษัทฯ ให้ความเคารพต่อความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติของพนักงานแต่ละคน บริษัทฯ ให้โอกาสเท่าเทียมกันกับพนักงาน และผู้ที่จะสมัครเข้ามาทำงานกับบริษัททุกคน บริษัทฯ จะให้ความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ที่ทำงานปลอดจากการกีดกันหรือแบ่งแยกใด ๆ รวมทั้งการคุกคามทางเพศ การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบไม่ว่ารูปแบบใด ๆ ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

(3) สัมพันธภาพระหว่างลูกค้า ผู้ให้บริการ (Supplier) และคู่แข่ง

บริษัทฯ ยึดมั่นต่อการดำเนินการค้าแบบเสรี ดังนั้นบริษัทฯ จึงตระหนักถึงความสำคัญที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย โดยจะไม่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เบียดเบียนกัน และการประกอบธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม หรือไร้ซึ่งจริยธรรม

ในการดำเนินธุรกิจกับลูกค้า ผู้ให้บริการ (Supplier) และคู่แข่ง บริษัทฯ จะถือหลักการปฏิบัติดังนี้

  • แข่งขันอย่างเต็มกำลัง และด้วยความซื่อสัตย์
  • ปฏิบัติต่อลูกค้า และผู้ให้บริการทุกท่านอย่างซื่อสัตย์เป็นธรรมและปราศจากอคติส่วนตัว
  • หลีกเลี่ยงการกระทำที่หลอกลวงหรือไม่ชอบธรรม พร้อมทั้งนำเสนอสินค้าและการให้บริการอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา
  • หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง โดยไม่มีเหตุผลและข้อเท็จจริงรองรับ
  • ทำความเข้าใจกับผู้ให้บริการ (Supplier) ทุกรายว่า บริษัทฯ จะเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างยุติธรรมและเต็มกำลังในการนำเสนอการให้บริการแก่บริษัทฯ และบริษัทฯ จะเลือกรับบริการจากผู้ให้บริการบนพื้นฐานของคุณภาพงาน ประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกัน
(4) ของกำนัลและเงินช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจ

การตัดสินใจทาธุรกิจของบริษัทฯ จะยึดหลักในเรื่องของความถูกต้องและชอบธรรม ดังนั้นบริษัทฯ จะหลีกเลี่ยงการให้หรือเสนอสิ่งของที่มีมูลค่าใด ๆ ต่อลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อจูงใจหรือเป็นรางวัลสำหรับการกระทำใด ๆ ที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการให้ในลักษณะใด ๆ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งจะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อบริษัทฯ อย่างไรก็ตามพนักงานอาจจะให้การเลี้ยงรับรอง หรือของกำนัลแก่ลูกค้า หรือผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าได้ตามความเหมาะสมบ้างในบางกรณีและโอกาส ทั้งนี้การให้ของรางวัลจะต้องมีความสมเหตุสมผลและไม่ขัดต่อกฎหมาย

(5) ความปลอดภัยและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม

บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและเน้นสุขอนามัยที่ดี บริษัทฯ จะต้องเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการออกแบบ การก่อสร้าง การบำรุงรักษาและกากรทำงานของเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายกับคนและสิ่งแวดล้อม การป้องกันดังกล่าวรวมถึงการจัดให้ใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยในการป้องกันที่เหมาะสม และกำหนดมาตรการให้มีการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานทุกคน

(6) กิจกรรมทางการเมืองและการบริจาค

บริษัทฯ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ในด้านการเมือง บริษัทฯ มีนโยบายในการวางตัวเป็นกลางในทางการเมือง โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด บริษัทฯ ไม่ขัดข้องหากพนักงานประสงค์จะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมหรือกิจกรรมทางการเมือง เช่น การบริจาคเงิน เวลา หรือทรัพยากรใดๆ เป็นการตัดสินใจของพนักงานแต่ละคน เป็นเรื่องส่วนบุคคลและความสมัครใจของแต่ละคน ทั้งนี้พนักงานต้องคำนึงเสมอว่าการเข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวจะมีผลกระทบในทางลบต่อบริษัทฯ หรือไม่ หากไม่แน่ใจประเด็นใดควรปรึกษาผู้บังคับบัญชาในสายงานเพื่อขอคำแนะนำเป็นกรณี ๆ ไป

(7) การขัดแย้งทางผลประโยชน์

นโยบายเกี่ยวกับการขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัทฯ นั้น ชัดเจนและตรงไปตรงมา บริษัทฯ ห้ามพนักงานประกอบธุรกิจ หรือการกระทำใด ๆ อันจะเป็นการขัดแย้ง และ/หรือ แข่งขันกับธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม และห้ามพนักงานดำเนินธุรกรรมใดๆ ในนามบริษัทฯ หรือบริษัทย่อยในเครือ หรือบริษัทร่วมทุนของบริษัทฯ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว หรือพวกพ้อง

ตัวอย่างของความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะต้องเปิดเผย มีดังต่อไปนี้

  • การมีผลประโยชน์ของตนเองและ/หรือครอบครัว เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมบริษัทฯ อาทิเช่น
    - การมีผลประโยชน์ร่วมกับคู่แข่งทางการค้า ผู้ให้บริการ (Supplier) หรือ ลูกค้าของบริษัทฯ
    - การมีผลประโยชน์ร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความประสงค์จะทำธุรกิจกับบริษัทฯ
    - การเข้าร่วมลงทุนในกิจการที่บริษัทฯ แสดงความสนใจที่จะลงทุน ฯลฯ
  • การรับของกำนัล ความช่วยเหลือ เช่น กู้เงิน รับบริการพิเศษ รับชำระหนี้แทนหรือการปฏิบัติเป็นพิเศษ รับชำระหนี้แทน หรือรับการปฏิบัติเป็นพิเศษไม่ว่าลักษณะใดจากบุคคล หรือองค์กรซึ่งทำหรือประสงค์ที่จะทำธุรกิจกับบริษัทฯ หรือที่เป็นการแข่งขันกับบริษัทฯ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการรับของกำนัล หรือความช่วยเหลือดังกล่าวเข้าข่ายดังต่อไปนี้
    ก) สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของการประกอบธุรกิจที่ดี
    ข) ไม่ถือว่าเป็นการจูงใจทางธุรกิจ
    ค) มีมูลค่าเล็กน้อยหรือเหมาะสมกับสถานภาพของพนักงาน
    ง) ไม่ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทฯ หากมีการเปิดเผยถึงธุรกรรมดังกล่าวต่อบุคคลทั่วไป
  • รับทำงานหรือให้คำปรึกษาแนะนำ แก่บุคคล คณะบุคคล หรือห้างร้านนิติบุคคลอื่นที่มีธุรกิจเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่ว่าจะเป็นรูปตัวเงินหรือวัตถุสิ่งของ

หากพนักงานมีข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ ว่าจะทำให้ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียที่ขัดแย้งกับบริษัทฯ หรือไม่ ก็ควรที่จะหารือกับผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสายงาน / โรงงาน / บริษัทที่ตนสังกัดอยู่แล้วแต่กรณี เพื่อขอคำแนะนำก่อนที่จะเข้าไปรับตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ หรือก่อนที่จะกระทำการนั้น ๆ

พนักงานทุกคนจะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวหรือนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ซึ่งขัดแย้งหรือสงสัยว่าจะเข้าข่ายการขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่สอดคล้องกับจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน ซึ่งอาจมีอยู่ในขณะนี้แก่ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน และขอให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสายงาน / โรงงาน บริษัทฯ ที่ตนสังกัดอยู่นำเสนอผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ โดยคณะผู้บริหารของบริษัทฯ จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าธุรกรรมใดเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้อยู่ในดุลยพินิจของประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารเป็นกรณี ๆ ไป

(8) การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายในและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯ อันมีผลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น

การค้าขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน หมายถึง การใช้ข้อมูลซึ่งไม่เป็นที่ทราบแพร่หลายในหมู่สาธารณะชนทั่วไปซึ่งมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวในทางการค้าหลักทรัพย์ บริษัทฯ จะปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมดที่คุ้มครองผลประโยชน์การลงทุนของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ อันเกี่ยวเนื่องกับการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ

ข้อมูลอันถือว่าเป็นข้อมูลสาระสำคัญ คือ ข้อมูลที่เมื่อนักลงทุนเห็นแล้วจะมีผลต่อการตัดสินใจในการซื้อ – ขายหุ้นหรือถือหุ้นของบริษัทฯ เช่น ประมาณการรายได้ของบริษัทฯ ที่เพิ่มขึ้นมากหรือลดลงเป็นจำนวนมาก การปรับโครงสร้างองค์กรที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือการจัดการที่สำคัญ หรือ การซื้อหรือจำหน่ายกิจการหรือหลักทรัพย์ที่เป็นสาระสำคัญ เป็นต้น

พนักงานจะไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ของบริษัทฯ หรือ บริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ในขณะที่พนักงานผู้นั้นมีข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญและยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน

(9) การเปิดเผยข้อมูล

พนักงานจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญที่มิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ต่อบุคคลภายนอก (รวมถึงสมาชิกในครอบครัว) เว้นแต่การเปิดเผยนั้นมีความจำเป็นเพื่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และมีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าผู้รับจะไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด หรือเปิดเผยอย่างไม่ถูกต้อง

พนักงานจะหารือหรือเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญและไม่พึงเปิดเผยต่อสาธารณชนได้เฉพาะแต่ในกรณีของการทำธุรกิจโดยปกติและกับผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าข้อมูลดังกล่าวได้รับภายในวงจำกัด และผู้รับรู้ข้อมูลจะไม่นำข้อมูลไปใช้หรือเปิดเผยโดยไม่ถูกต้องเท่านั้น

(10) การทำบัญชีและบันทึกรายการ

บริษัทฯ จะปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดในการเก็บบันทึก งบการเงินและบัญชี บัญชีของบริษัทฯ จะต้องแสดงถึงรายการธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น และยึดมั่นในมาตรฐานการให้ข้อมูลด้วยความซื่อสัตย์เที่ยงตรง

พนักงานแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในการรักษามาตรฐานดังกล่าว จะต้องเก็บบันทึกรายการธุรกรรมทั้งหมดอย่างเหมาะสม พนักงานจะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับผู้สอบบัญชีทั้งภายในและภายนอกของบริษัทฯ โดยจะต้องไม่มีการปลอมแปลงหรือปกปิดข้อมูลไม่ว่ากรณีใด ๆ พนักงานซึ่งทำให้ข้อมูลการบันทึกบัญชีเป็นเท็จจะถูกสอบสวนทางวินัย และพิจารณาโทษสถานหนัก

(11) ที่ปรึกษาภายนอก

หากบริษัทฯ ว่าจ้างที่ปรึกษาหรือหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาช่วยงาน ที่ปรึกษาหรือหน่วยงานจากภายนอกนั้นรวมทั้งพนักงานของหน่วยงานนั้น ๆ จะต้องรับทราบ และได้รับการชี้แจงว่าบริษัทฯ คาดหวังให้ที่ปรึกษาหรือหน่วยงานเหล่านั้นปฏิบัติตามเจตนารมณ์แห่งจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของบริษัทฯ โดยเคร่งครัด ในระหว่างการทำงานร่วมกับบริษัทฯ

(12) อีเมล์ อินเตอร์เน็ต

ระบบอีเมล์ และอินเตอร์เน็ตของบริษัทฯ ได้ถูกจัดไว้ให้มีไว้เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นหลักเท่านั้น ไม่ควรใช้ระบบเหล่านี้ในการส่ง หรือรับข้อความที่มีนัยคุกคามหรือเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ จดหมายลูกโซ่ ข้อมูลที่เป็นความลับ เนื้อความ หรือ รูปภาพที่เป็นไปในทางเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีงาม

บริษัทฯ เป็นเจ้าของอีเมล์ทุกฉบับที่ส่งหรือรับผ่านระบบของบริษัทฯ บริษัทฯ สงวนสิทธิ์ในการตรวจสอบข้อความเหล่านั้นของพนักงาน หรืออาจขอให้พนักงานเปิดเผยข้อความเหล่านั้น ในกรณีที่มีการดำนินคดี หรือสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(13) การเปิดเผยข้อมูลสถานภาพของพนักงาน

พนักงานทุกคนจะต้องเปิดเผยสถานภาพ หรือการประกอบธุรกรรมส่วนบุคคล ให้แก่ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันทีหากเรื่องดังกล่าวอาจขัดแย้งกับเจตจำนงหรือความมุ่งหมายของจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานฉบับนี้ และจะต้องให้ความร่วมมือกับบริษัทฯ ในการสอบสวนเรื่องราวดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาตามสายงานจะพิจารณาให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร และนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปเพื่อพิจารณา

หากพนักงานมีความเห็นว่าการเปิดเผยเรื่องราวใด ๆ ต่อผู้บังคับบัญชาอาจไม่เหมาะสมหรือเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีความรู้สึกว่าเจตนาที่ดีของพนักงานในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจได้รับการขัดขวางหรือบิดเบือน พนักงานสามารถนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ ได้โดยตรง

(14) การรายงานความประพฤติที่ไม่สอดคล้องกับจรรยาบรรณ

หากพนักงานพบว่ามีสาเหตุอันควรสงสัยและ / หรือ ควรที่จะทำให้เชื่อว่าได้มีการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคู่มือจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานฉบับนี้แล้ว จะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงในสายงานของท่านได้ทราบตามลำดับ หรือาจแจ้งผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคลทราบโดยตรงทันที